และแล้วววว…..ก็มาถึงภาคจบ!!….ของเรื่อง เครื่องเสียงกลางแจ้ง กันเสียที…”ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” หลังจาก…..
ภาค1 พร่ำพรรณนา “เรื่องที่ไปที่มาของเครื่องเสียงกลางแจ้ง”
ภาค2 ก็มาเข้าเรื่อง “เครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดเล็กแต่พลังเสียงไม่เล็ก”
งานนี้ก็จะถึงภาค3 “ระบบเครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่ แบบจัดเต็ม”
เมื่อเวทีลูกทุ่งระดับตำนานมาล้อมผ้าปิดวิกในอำเภอบ้านนอก อย่างบ้านผม….จนได้ ว่าแล้วก็เหมารถพร้อมกับม้วนเสื่อไปจองที่ก่อนดีกว่า จะได้สัมผัสพลังกระเดื่องกระแทกหน้าอกหน้าเวทีก่อนใครๆ คราวที่แล้วเราพูดถึง ระบบเสียงกลางแจ้งขนาดเล็ก กันไปแล้ว พร้อมจดหมายมาด่าหลังไมค์กันกองโต เลยทีเดียว…ว่าเฮ่ย..ระบบเครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดเล็ก ทำไมมันใช้อุปกรณ์เยอะจริง
โถ..พี่ทิดแย้ม ถ้าพี่ทิดมาดูคอนเสิร์ต คืนนี้กับฉัน พี่ทิดจะเข้าใจดีว่า “ระบบเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่” นั้นเป็นเยี่ยงไร…อุปกรณ์มันเยอะจริงๆ
เครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่
แล้วระบบเครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่มันต้องมีอะไรบ้าง..??
เอาตั้งแต่เวทีเลยนะ เวทีใหญ่และกว้างมาก จำนวนลำโพงซึ่งจะวาง หรือตั้ง หรือแขวนเรียงกันเป็นตับ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลำโพงที่หันหน้าออกกหาคนดู ลำโพงที่หันหน้าไปหานักดนตรี ก็ล้วนแต่ใบใหญ่และมีจำนวนมากตามไปด้วย ใต้นั่งร้านมีแอมป์ วางเป็นแร็คข้างละ 4-5แท่น กลางสนามยังมีคอกกั้นเครื่องผสมสัญญาณเสียงหรือ Audio mixer ที่ตัวใหญ่มากๆ มี EQวางเต็มแร็คเลย จอไฟติดแน่นพรึ่บไปหมด สีเขียว สีเหลือง นึกออกหรือยัง? ขอเล่าให้ฟังตามลำดับก็แล้วกันพี่ทิด
1.เครื่องผสมสัญญาณเสียงหรือ Audio Mixer
ไอ้ที่ใหญ่ๆปุ่มเยอะๆ แล้วมีเข็มกระดิก หรือเม็ดไฟวิ่งเขียว เหลืองแดงนั่นแหละ ไม่รู้จะปรับอะไรกันนักหนา(บ้านฉัน ปรับ ทุ้ม กลาง แหลม ก็เพราะแล้ว) แล้วคนที่ยืนคุมก็เก๊กเป็นพระเอกหนังไทยนั่นแหละ ถามว่าทำไมมันต้องตัวใหญ่ขนาดนั้น ก็เพราะมันใช้กับไมโครโฟนจำนวนมากนั่นยังไง 32ช่อง 48ช่อง 56ช่อง แล้วช่องสัญญาณขาออกก็ยังต้องมีจำนวนมากด้วย เพื่อส่งไปยังลำโพงหลัก ลำโพงนักดนตรี ระบบบันทึกเสียง หรือระบบถ่ายทอดเสียงด้วยเช่นกัน
2.ไมโครโฟน Microphone
ขึ้นอยู่กับจำนวนเครื่องดนตรี โดยมากแบ่งเป็น 2 ชนิด
-แบบใช้กระแสไฟฟ้าเลี้ยง(Phantom +48V.) เราเรียกว่า คอนเดนเซอร์ไมค์
-แบบไม่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าเลี้ยง เราเรียกว่า ไดนามิคไมค์
จำนวนไมโครโฟนนับจากชิ้นของเครื่องดนตรีที่จะต้องจ่อ เช่นกลองใช้ไมค์ 8 ตัว นักร้อง 4 คน เครื่องเคาะ 4 ตัว กีตาร์ไฟฟ้า 2 ตัว เครื่องเป่า 3 ตัว นี่คร่าวๆนะครับ!!
3.เครื่องเล่นซีดี CD,MP3 Player
ในงานเครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่ อาจเอาไว้เปิดเพลงเพื่อทดสอบระบบ หรือเอาไว้เปิด Backing Track ก็ได้เช่นกัน มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน ขอแนะนำเป็นรุ่นที่ DJ ใช้จะดีมาก เพราะรวดเร็วทันใจ เพราะเคยพบเห็นมาก็มากที่ “พระเอกตัวจริง”มาตกม้าตายเพราะเครื่องเล่น….ฮา..
4.เครื่องชดเชยความถี่ หรือ Equalizer : EQ
ซึ่งจะเป็นแบบ Graphic EQ ที่มี31Band (31ก้านปรับ) แต่จะเห็นว่า มันไม่ได้มีแค่1ตัว มันมี 2 ตัว 3 ตัว 4 ตัว มากน้อยตามจำนวนลำโพงหลักที่หันหาคนดู และลำโพงที่ป้อนให้กับนักดนตรีบนเวที
5.Cross Over หรือ DSP (Digital Signal Processor) หรือ System Controller
แล้วแต่ผู้ผลิตจะเรียก มันคืออุปกรณ์ตัดแบ่งความถี่ ให้เหมาะสมกับแอมป์และลำโพงนั่นเอง ซึ่งในระบบเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่ มีลำโพงอยู่หลายประเภทด้วยกัน เช่น ลำโพงเสียงต่ำ(Sub woofer) ลำโพงเสียงทุ้ม(Low) ลำโพงเสียงกลาง(Mid) และลำโพงเสียงแหลม(Hi) ซึ่งจะเห็นว่า มี4ทางเข้าไปแล้ว บางยี่ห้อภายในอุปกรณ์ตัวนี้ยังประกอบไปด้วย 31 Band EQ,Delay และ Limiter ป้องกันลำโพงด้วยก็มี มากกว่านั้น บางผู้ผลิตยังสามารถสั่งงานผ่านทางระบบควบคุมแบบไร้สายได้อีกด้วย
6.Power Amp เครื่องขยายเสียงหรือเรียกสั้นๆ ว่า แอมป์
ปัจจุบันมีวิวัฒนาการไปไกลมาก บางรุ่นเน้นน้ำหนักเบา บางรุ่นเน้นกำลังขับมหาศาล บางรุ่น มีDSPภายใน ทำให้ไม่จำเป็นต้องมี Graphic EQ หรือ Cross Over ภายนอกเลยยังได้ จำนวนแอมป์ในระบบเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่ นับตามจำนวนลำโพง หรือจำนวนคอลัมน์ที่แขวนใช้งานจริง เช่น ลำโพง Low Mid Hi ใช้แอมป์ 3 ช่อง แต่มีการแบ่ง เป็นชุด ยิงไกล ยิงกลาง ยิงใกล้ ก็ต้องใช้แอมป์มากถึง 9 ช่อง ต่อข้างเลยก็มี จำนวนยังจะเพิ่มมากไปอีกตามจำนวนลำโพงมอนิเตอร์ของนักดนตรี (Stage monitor) ซึ่งจะถูกกำหนดด้วย จำนวน Aux send จาก Mixer ด้วยเช่นกัน งานเริ่มไม่หมูแล้ว…
7.ลำโพง Loudspeaker
ซึ่งในงานระบบเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่นั้น ลำโพงต้องมีความดังมหาศาล เพื่อต่อสู้กับสิ่งแวดล้อม และเสียงรบกวนพื้นฐาน (Noise floor) ในยุคปัจจุบัน แต่ละบริษัทต่างแข่งขันในการผลิตลำโพงที่มีขนาดเล็กลง กินวัตต์น้อยลง แต่ให้ความดังที่มากขึ้น รวมทั้งพยายามที่จะทำให้ผู้รับฟังในพื้นที่นั้นๆ ได้รับฟังเสียงที่มีความดังสม่ำเสมอ หรือใกล้เคียงกันอีกด้วย ด้วยเทคโนโลยีของลำโพงที่เรียกว่า Line Array เป็นต้น หลักการคร่าวๆคือ การแขวนลำโพงยาวเป็นแถว ลักษณะตัว J ลำโพงใบด้านบน ยิงไปพื้นที่ไกลสุด ใบกลางยิงไปกลางพื้นที่ และใบล่างยิงพื้นด้านหน้าเวที
ตัวอย่าง Diagram การต่อระบบเครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่เบื้องต้น
นี่เป็นเพียงส่วนประกอบคร่าวๆ ที่ทำให้นึกถึงภาพของงาน ระบบเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่ หรือใครจะนิยมเรียกว่า Concert Sound, Live Sound, Pro Sound ก็ตามความสะดวก ยังมีอุปกรณ์อีกมากที่ต้องนำมาประกอบเพื่อให้การทำงานระบบสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสายสัญญาณแบบพิเศษต่างๆ ซึ่งในยุคปัจจุบัน ระบบเสียงแบบดิจิตอลเริ่มเข้ามาแทนที่ ทำให้จุดหมายปลายทางนั้นเต็มไปด้วย เสียงที่สะอาดมากขึ้น ฮัมจี่น้อยลง ขนาดของอุปกรณ์ที่เล็กลง สายสัญญาณที่น้อยลง
แต่ไม่ว่า “ระบบจะพัฒนาไปถึงไหนต่อไหน อย่าลืมที่จะพัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันเทคโนโลยีด้วย” ไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจจะถูก คนยุคเก่าเขาว่าด้วยประโยคสุดเจ็บแสบว่า “ ไอ้พวกเด็กสมัยนี้ ” เอวัง ก็ด้วยประการฉะนี้…
หากมีข้อมูลหรือข้อผิดพลาดประการใดสำหรับบทความนี้ต้องขออภัยมาณ.ที่นี้ด้วยครับ
บทความโดย : อาจารย์ แฟรงกี้ ฟ้าฉาย อนุบาลเสียง
สนใจบทความสาระน่ารู้เกี่ยวกับระบบเสียงวิธีใช้งาน รวมถึงการ Review สินค้าเจ๋งๆได้ที่ ฟ้าฉายอนุบาลเสียง channel
สนใจสินค้าเกี่ยวกับระบบเครื่องเสียงกลางแจ้งขนาดใหญ่
ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ขอคำแนะนำปรึกษา ติดต่อ บริษัทมิวสิคสเปซ จำกัด – www.soundspacethai.com
0 Comment